พระธาตุหนองหยิบ หรือพระธาตุจอมแจ้ง ก่อนได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร
ตำนานพระธาตุหนองหยิบ หรือพระธาตุจอมแจ้ง หรือในท้องถิ่นเรียกว่าพระธาตุหนองบัว ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 6 ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ประวัติพระธาตุนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช ผู้ครองเมืองน่าน(เป็นเจ้ามหาชีวิต)ตามคำบอกเล่าว่า ทางเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร
ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเมือง เจ้าเมืองน่านได้นำเอาช่างฝีมือในการก่อสร้างไปช่วยในการปฏิสังขรณ์ คำบอกเล่ากล่าวว่าตรงกับในสมัยรัชการที่ 3 เมื่อทำการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้น
เจ้าผู้ครองนครน่านได้รับความดีความชอบเป็นอันมาก และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 ก็ได้พระราชทาน พระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่เจ้าผู้ครองนครน่าน 2 องค์
เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้กลับจากกรุงเทพมหานคร มาถึงเมืองน่าน จึงได้ดำริสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุพระธาตุ ได้ให้โหรทำนาย หรือโบราณเรียกว่า นักสัตถา หรือดูลายเมือง ได้ทำนายว่า ที่อันเหมาะสมในการสร้าง
สร้างพระธาตุนั้น เป็นเนิน ที่ติดกับหนองน้ำ ท่านได้สำรวจพื้นที่จึงเห็นว่า เนินที่เหมาะแก่การตั้งพระธาตุนั้น มี 2 ที่คือ เนินที่อยู่ติดกับหนองบัว(หนองน้ำสาธารณะบ้านหนองบัว)จึงเป็นที่ตั้งพระธาตุหนองหยิบ
และพระธาตุ อีกองค์หนึ่ง สร้างขึ้นในเขตตำบลยม คือพระธาตุจอมนาง ซึ่งเป็นที่อันเหมาะสมกับการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระธาตุ ตรงตามคำทำนาย
หลังจากได้พบพื้นที่อันเหมาะสมแล้ว จึงได้กำหนดลักษณะ และวันอันเป็นมงคลเพื่อทำการก่อสร้างพระธาตุจอมแจ้ง คือ ขนาดองค์เจดีย์กว้างประมาณ 5 วา สูงประมาณ 5 วา กำหนดสร้างในวันเพ็ญเดือน 5
เจ้าผู้ครองนครน่าน จึงได้เริ่มสร้างเจดีย์และบรรจุพระธาตุไว้ เมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช ได้สร้างพระธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงมอบให้ชาวไทลื้อและชาวบ้านใกล้เคียง รักษาและบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป
ฉะนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ จะมีพิธีนมัสการฉลองพระธาตุจอมแจ้ง นี้เป็นประจำ และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สถานที่แห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราทุกคนควรเข้าไปกราบไหว้ สัมผัสรับพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ มาอยู่กับตัวเรา
และขณะนี้ทางกรมศิลปากร ได้เข้าไปสำรวจแล้ว กำลังเตรียมทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นมรดก ให้ลูกหลานชนรุ่นหลัง ได้กราบไหว้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น